“อาหารฟังก์ชั่น” เรียนรู้ให้ถูกต้อง
อีกหนึ่งทางเลือกการดูแลสุขภาพของสาวๆ ยุคใหม่
ในยุคที่สาวๆ ทุกคนต้องการมีสุขภาพดี ดูดี และแข็งแรงอยู่เสมอ อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา ได้แนะแนวทางการเสริมสุขภาพด้วยอาหาร หลังกลับจากการไปประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกา ณ เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า ปัจจุบันแนวคิดการใช้อาหารดีส่งผลดีต่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตและสุขภาพของเรามากขึ้น การกินที่ดีนั้นหมายถึงการที่ร่างกายควรได้สารอาหารครบถ้วน อาจไม่จำเป็นต้องครบใน 1 มื้อ แต่ให้ดูโดยรวมทั้งวัน หรือทั้งอาทิตย์
เฉลี่ยแล้วครบก็ถือว่ามีหลักการกินที่ดีที่จะส่งเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ตามประโยชน์ของอาหารนอกจากจะให้พลังงานและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว ยังอาจมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ทางสุขภาพแต่ไม่ให้พลังงานและไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการ (Non-nutrients) เหมือนกับอาหารหลัก 5 หมู่ เช่น สารพฤกษเคมี (Phytonutrients) ที่ได้จากพืชบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทานโรค หรือควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน เป็นต้น เราเรียกอาหารเหล่านี้ว่า อาหารฟังก์ชั่น (Functional foods)
อาหารฟังก์ชั่น หมายถึง อาหารหรือสารอาหารชนิดใดๆ ที่อยู่ในรูปธรรมชาติ หรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารหลักที่กินกันในชีวิตประจำวัน และยังมีสารที่อาจมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทานโรค ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้น อาหารธรรมชาติหลายๆ ชนิดจัดเป็นอาหารฟังก์ชั่น เช่น เห็ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีโปรตีนสูง อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามินบีสูง และแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะเห็ดทางการแพทย์ (Medicinal mushrooms) เช่น เห็ดไมตาเกะ (Maitake) ที่อุดมไปด้วยสารกริโฟแลน (Grifolan) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติและมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายเพิ่มเติมนอกเหนือจากคุณค่าโภชนาการตามปกติที่มีอยู่ มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าสารชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีอาหารฟังก์ชั่นอื่นๆ อีกมากมายที่มาจากผักและผลไม้ต่างๆ เช่น บิลเบอรี่ และผลไม้ในตระกูลเบอรี่อื่นๆ มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพคือสารโปรแอนโธไซยานิดินส์ หรือ พรุน มีกรดนีโอโคลโรเจ็นนิค (neochlorogenic acid) และกรดโคลโรเจ็นนิค (chlorogenic acid) เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ และมีใยอาหารสูงมาก เป็นต้น
ปัจจุบันวิวัฒนาการอาหารฟังก์ชั่นก้าวไปไกล ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นที่เอื้อความสะดวกแก่ผู้บริโภค ประเภทเครื่องดื่มฟังก์ชั่นที่ชาวจีนนิยมใช้กันมานาน เช่น รังนกอีแอ่นกินรัง โดยแพทย์จีนใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยา เพราะเชื่อกันว่ารังนกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี ช่วยให้อายุยืน และต่อต้านความชรา นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ในการฟื้นฟูสุขภาพจากการเจ็บป่วย ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงสุขภาพเด็กที่ไม่แข็งแรง เสริมสุขภาพการย่อยและการดูดซึม ปัจจุบันการศึกษาในระดับโมเลกุลพบว่า รังนกที่ผลิตจากน้ำลายของนกอีแอ่นกินรังประกอบไปด้วย สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เรียกว่า สารไกลโคโปรตีน ที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโน เซอรีน ทรีโอนีน และโปรลีน เป็นต้น จากผลการวิจัยพบว่าในสารสกัดที่ได้จากรังนกนั้นประกอบด้วยสารอีพิเดอร์มอลโกรธแฟกเตอร์ [Epidermal Growth Factor (EGF)] ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของผิวหนังกำพร้าและเยื่อบุต่างๆ นอกจากนี้คณะนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่ารังนกมีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส โดยไกลโคโปรตีนที่มีในรังนกจะไปจับเชื้อไวรัส และยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส จึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้เมื่อกินในปริมาณที่เพียงพอ
จะเห็นว่าทั้งอาหารหลักและอาหารฟังก์ชั่นต่างมีบทบาทที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่ต่างกัน อาหารฟังก์ชั่นไม่สามารถใช้ทดแทนอาหารหลักได้ แต่สามารถเสริมการทำงานอาหารหลักหากมีการใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันสมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ประเมินประโยชน์อาหารต่างๆ ทั้งจากสารอาหารและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยใช้ข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ประเมินประโยชน์จากแค่คุณค่าทางโภชนาการ จึงไม่ควรนำอาหารหลักและอาหารฟังก์ชั่นมาเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ยากหากจะผสมผสานการใช้อาหารฟังก์ชั่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพ ผู้บริโภคควรติดตามศึกษาหาความรู้จากงานวิจัยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกอาหารให้เหมาะกับความต้องการของสภาพร่างกาย หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะมีสุขภาพดีได้ตลอดชีวิต - บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 10:34:00 วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2554
ข่าวประชาสัมพันธ์
(1)
ข่าวสุขภาพ
(4)
คลิปวีดีโอ
(18)
ความรัก
(8)
ชะตาสุขภาพ
(1)
บทความ
(25)
โปรแกรมอาหาร
(2)
ผัก
(3)
ผู้หญิง
(1)
โรคผิวหนัง
(2)
ลดสัดส่วน
(40)
ลูกน้อย
(1)
สมุนไพร
(5)
สุขภาพกาย
(1)
สุขภาพจิต
(1)
สุขภาพรัก
(1)
อาหารเช้า
(2)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" บล๊อกนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการรักษา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม แนะนำ/ติชม กันได้ที่ payao1971@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น