สวัสดีปีใหม่ แฟนคอลัมน์ “หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ” ขอให้มีความสุขตลอดทั้งปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัย และก็ติดตามเรื่องราวสุขภาพต่าง ๆ ที่คุณหมอของ รพ.รามาธิบดี เขียนเองกับมือได้ทุกสัปดาห์เช่นเคยค่ะ
ฉบับที่แล้วนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรคปวดข้อในเด็ก ที่มีการแบ่งชนิด และลักษณะอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูก ๆ ตั้งแต่ยังเด็ก สัปดาห์นี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคปวดข้อในเด็กมาฝากกันต่อ
เด็กที่มักมีอาการปวดขาตอนกลางคืน เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ อย่างแรกที่เรียกกันว่า “โกรวอิ้ง เพนส์” ซึ่งเมื่อก่อนเชื่อว่าเป็นเพราะกระดูกยืดหรือเด็กกำลังโต แต่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวกับเด็กกำลังโตหรือกระดูกยืดแต่อย่างใด บางคนเชื่อว่าเกิดจากการปวดกล้ามเนื้อที่ใช้งานมามากระหว่างวัน แต่ภาวะนี้ไม่ใช่โรค และไม่ต้องรักษา มักพบในเด็กที่มีช่วงอายุ 3-8 ขวบ หรือวัยก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งเด็กจะตื่นมาบ่นปวดขาตอนกลางคืน ให้คุณแม่นวด แล้วก็นอนหลับได้ พอตอนเช้ามาก็วิ่งเล่นได้ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ภาวะนี้จะหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น ถ้าเด็กมีข้ออักเสบจริง ๆ เด็กจะไม่ยอมให้แม่นวดเลย เพราะจะเจ็บ
จะตรงกันข้ามกับ “โกรวอิ้ง เพนส์” ในอีกกรณีที่เด็กหลับไปแล้ว ตื่นขึ้นมาร้องปวดขามากตอนกลางคืน นวดยังไงก็ไม่หาย ลูกจะดูซึมลง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรืออาจมีไข้ไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วย กรณีนี้ต้องสงสัยภาวะมะเร็งที่ลามไปที่กระดูก ควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์โดยเร็ว อีกภาวะหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การติดเชื้อในข้อ ซึ่งในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่จะบอกได้ชัดเจนว่าข้อลูกผิดปกติเพราะข้อจะบวมแดงร้อนชัดเจน ไข้ขึ้นสูง ขยับข้อนั้น ๆ แทบไม่ได้ คือปวดตลอดเวลา มักจะมีอาการเพียงข้อเดียว ส่วนมากเด็กที่เป็นโรคนี้มักจะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ จึงติดเชื้อได้ง่าย
ส่วนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในข้ออักเสบฉับพลันคือไข้รูมาติก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ สเตร็ปโตคอคคัส เด็กมักมีอาการคออักเสบ หรือเป็นหวัดนำมาก่อนประมาณ 3 สัปดาห์ ภายหลังการติดเชื้อระบบภูมิต้านทานเราเกิดสับสนระหว่างเชื้อโรคกับเนื้อเยื่อในร่างกาย จึงเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตัวเองขึ้น ที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นการเกิดภาวะ “ภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง” ซึ่งในโรคนี้จะเกิดบริเวณข้อ หัวใจ หรือแม้แต่ในสมอง ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการไข้สูง ปวดข้อมาก ข้ออักเสบ บวม ร้อน ขยับแล้วเจ็บมาก รวมทั้งในบางรายมีอาการลิ้นหัวใจรั่วหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติร่วมด้วย
ส่วนภาวะข้ออักเสบเรื้อรังที่มีคนถามว่า “เด็กเป็นรูมาตอยด์แบบผู้ใหญ่ได้ด้วยเหรอ” ขอตอบว่าได้ค่ะ สมัยก่อนจะเรียกกันว่า “ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก” ปัจจุบันเปลี่ยนใหม่แล้วเรียกว่า “ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” เพราะไม่ทราบสาเหตุจริง ๆ ว่าอยู่ดี ๆ ทำไมถึงเกิดขึ้น รู้แต่ว่าเกิดจากระบบภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ แทนที่ภูมิต้านทานเราจะทำร้ายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว หลังจากกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคไปแล้ว มันกลับไม่หยุดทำงานและหันกลับมาทำร้ายตัวเอง และเจาะจงที่ข้อ จึงเกิดข้ออักเสบขึ้นมา ไม่มีใครบอกได้ว่าทำไมมันถึงทำงานผิดพลาดได้อย่างนี้ ลักษณะของอาการข้ออักเสบในเด็กจะแตกต่างกับรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่หลายอย่าง นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ เพราะกลัวจะสับสนกัน
ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่มักจะปวดตามข้อนิ้วมือ และมักเป็นเท่ากันทั้งสองข้าง ในเด็กอาการข้ออักเสบเป็นได้หลายแบบมาก ตั้งแต่ปวดข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ กระดูกสันหลังบริเวณคอ บริเวณเอว สารพัดจะปวด จะเป็นทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้ เด็กบางรายเป็นมากจนแทบจะเดินไม่ได้ ต้องหยุดโรงเรียนบ่อย ๆ มีผลกระทบทั้งครอบครัวและตัวเด็กเอง นอกจากนี้ข้ออักเสบชนิดนี้ยังถูกแยกย่อยออกได้เป็นอีกหลายชนิด ขึ้นกับการดำเนินของโรค และการรักษา บางชนิดเด็กจะมีอาการไข้สูงเรื้อรัง หาสาเหตุของไข้ยังไงก็ไม่เจอ และมีผื่นร่วมด้วย โดยเด็กจะมีไข้สูงวันละ 1-2 ครั้ง ตอนมีไข้เด็กจะปวดข้อและซึมมาก พอไข้หาย เด็กบางคนลุกขึ้นวิ่งเล่นได้เลยก็มี ลักษณะผื่นจะเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ เม็ดเล็ก ๆ ผื่นจะขึ้นตามไข้ ถ้าไข้ขึ้นผื่นขึ้น ไข้หายผื่นหาย ผื่นจะไม่ค่อยคัน จึงแตกต่างกับเด็กที่มีผื่นจากโรคภูมิแพ้ทั่วไป
สำหรับยาที่ใช้รักษาก็เป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบ และยากดภูมิคุ้มกัน ก็เพราะภูมิคุ้มกันมันทำงานเยอะเกินเราก็เลยต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมมันไม่ให้มาทำร้ายตัวเอง ในระยะยาวมีทั้งเด็กที่หายขาด หรือมีทั้งเป็นเรื้อรังจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดที่เด็กคนนั้นเป็น เพราะการดำเนินโรคในแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน แต่การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้รักษาง่ายกว่า และลดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า เพราะฉะนั้นหากลูกมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ารักษาช้า อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เด็กไม่โตเท่าที่ควร หรือทำให้ข้อติด ข้อโดนทำลาย ทำให้ใช้งานไม่ได้ตามปกติ กลายเป็นพิการไป ทั้ง ๆ ที่รักษาได้ตั้งแต่แรก.
อ.พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
ข่าวประชาสัมพันธ์
(1)
ข่าวสุขภาพ
(4)
คลิปวีดีโอ
(18)
ความรัก
(8)
ชะตาสุขภาพ
(1)
บทความ
(25)
โปรแกรมอาหาร
(2)
ผัก
(3)
ผู้หญิง
(1)
โรคผิวหนัง
(2)
ลดสัดส่วน
(40)
ลูกน้อย
(1)
สมุนไพร
(5)
สุขภาพกาย
(1)
สุขภาพจิต
(1)
สุขภาพรัก
(1)
อาหารเช้า
(2)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" บล๊อกนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการรักษา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม แนะนำ/ติชม กันได้ที่ payao1971@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น