หนึ่งทศวรรษหลักประกันสุขภาพ

หนึ่งทศวรรษหลักประกันสุขภาพ ก้าวต่อไปของบัตรทองปี 55
ปี 2555 นี้ จะเป็นปีที่คนไทยมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าเข้าสู่ปีที่ 10 หลังจากพัฒนาตามลำดับขั้นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสโลแกน 30 บาทรักษาทุกโรค จนกระทั่งยกเลิก 30 บาท ช่วงปลายปี 2549 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการปฏิวัติ และมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าบัตรทอง กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายการใช้บัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์หรือบัตรสมาร์ทการ์ดแทนบัตรทอง คำว่าบัตรทองที่ใช้ในความหมายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เริ่มจะเลือนหายไป กระทั่งการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ต่อจากพรรคไทยรักไทย ก็มีนโยบายจะเก็บ 30 บาทอีกครั้ง เพื่อต้องการให้ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ถือกำเนิดในยุคไทยรักไทยกลับมาติดปากอีกครั้ง

9 ปีที่ผ่านมานั้น เป็น 9 ปีที่คนไทยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งคนไทยประมาณร้อยละ 99.18 ได้รับหลักประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆ กัน โดยหลักๆ มี 3 ระบบใหญ่ คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งดูแลประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ 47 ล้านคนที่ได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพในการรักษาพยาบาล การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสุขภาพให้กับคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 และล่าสุดเพิ่มเป็น 2,755 บาทต่อประชากรในปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83

ผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ประชาชนไทยมีหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชาชนผู้มีสิทธิ จำนวน 63.08 ล้านคน ความครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 99.24 ของประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศ 63.57 ล้านคน ยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ลงทะเบียนสิทธิ จำนวน 484,658 คน และกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ จำนวน 1,330,116 คน

งบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนข้อ 1.14 ของรัฐบาลที่ต้องการให้สิทธิในการรักษาพยาบาล ที่มีคุณภาพสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม ประชาชนเข้าถึงได้ โดยไม่ทำให้เกิดการล้มละลายจากการเจ็บป่วย สำหรับในปีงบประมาณ 2555 ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยจะใช้งบประมาณ 114,527 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานโดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารแผนปฏิบัติการและการบริหารบุคลากรให้ดำเนินการตามนโยบาย ในขณะที่ สปสช.มีหน้าที่จัดการด้านการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่สำคัญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการระบบ หรือ CEO ในระดับจังหวัด โดยมีหน้าที่ในการปรับเกลี่ยงบประมาณให้กับหน่วยบริการภายในจังหวัดให้เพียงพอ มิให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงติดตามการใช้เงินของหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพ มิให้นำเงินไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย และนำเงินไปลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ในการบริการคนไข้

ขณะที่ น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ผ่านมา สปสช.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวิชาชีพ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิที่พึงได้มากขึ้น สำหรับปีงบประมาณ 2555 ในการจัดกระบวนการแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ทำให้สามารถเชื่อมั่นได้ว่า หน่วยบริการในทุกจังหวัดจะไม่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง

โครงการเด่นปี 55 สนับสนุนนโยบาย สธ.
เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการพิจารณาโครงการ 10 โครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการเฉลิมพระเกียรติ โครงการลดความแออัดในรพ.ขนาดใหญ่ โครงการเร่งรัดการสร้างเสริมสุขภาพ โครงการสนับสนุนการตอบสนองและฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติ โครงการสร้างสุขภาพแก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โครงการพัฒนาแพทย์แผนไทย และโครงการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์พยาบาลและประชาชน เป็นต้น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบหนึ่งที่จะช่วยให้นโยบายดังกล่าวสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ โดยผ่านกลยุทธ์หลายด้าน เช่น กลไกการเงินการคลัง การสนับสนุนระบบการจัดการ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน

น.พ.วินัย กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการต่างๆ ดังนี้ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับในเด็ก 40 คน/ปี ส่งเสริมป้องกันตาบอดจากเบาหวาน 9,999 ดวงตา ผ่าตัดช่วยเหลือเด็กพิการทางใบหน้า 50 ราย/ปี การสร้างแพทย์ชนบทคืนถิ่นในด้านเวชศาสตร์ครอบครัว 60 คน/ปี การสนับสนุนให้รพ.ทำ one day surgery หรือการผ่าตัดในวันเดียวในโรคที่สามารถทำได้ เพื่อลดการรอคิวและแออัดในรพ. การจัดบริการนอกเวลาราชการ ส่งเสริมสุขภาพโดยหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมทุก 5 ปี ผู้สูงอายุได้รับการเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า คัดกรองเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ป้องกันตาบอดจากต้อกระจก ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2.9 ล้านคน สนับสนุนฟันเทียมทั้งปาก 5 หมื่นคน สนับสนุนการใช้ยาสมุนไพร จากเดิมมีการรับรองให้ใช้ยาสมุนไพร 72 รายการ และสนับสนุนให้หน่วยบริการสาธารณสุข 200 แห่งเป็นศูนย์บริการด้านการแพทย์แผนไทย เป็นต้น ทั้งนี้วิธีการดำเนินการทั้งหมดของแต่ละโครงการจะช่วยสนับสนุนให้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขบรรลุเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยได้

สปสช.กับโครงการเฉลิมพระเกียรติ
เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดทำนโยบายพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน โดยมีทั้งสิ้น 5 โครงการ คือ

1.โครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็กที่มีภาวะตับวายแต่กำเนิด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ในแต่ละปีจะพบว่ามีผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิดประมาณ 60-80 คนต่อปี ในจำนวนนี้มี 30-40 รายที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หากไม่ได้รับการผ่าตัดในรายที่จำเป็นผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเห็นชอบขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตั้งเป้าหมายผู้ป่วยเด็ก 40 คน สนับสนุนงบ 40-50 ล้านบาท โดยเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่ง สปสช.ประสานความร่วมมือกับรพ.ที่ให้บริการได้ 4 แห่ง คือ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี และรพ.ศิริราช

2.โครงการจัดหาและบริการดวงตาเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กรมประชาสัมพันธ์ องค์การเภสัชกรรม และศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย เริ่มตั้งแต่ 2552-2556 เป้าหมายเปลี่ยนกระจกตาใน 5 ปี 3,700 ดวงตา เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยกระจกตาพิการ สปสช. สนับสนุนงบ 74 ล้านบาท ผลการดำเนินงานปี 2552 ให้บริการ 205 ดวงตา ปี 2553 ให้บริการได้ 213 ดวงตา ปี 2554 ให้บริการได้ 392 ดวงตา

3.โครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะตาบอดจากเบาหวานเฉลิมพระเกียรติ เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช.กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนทางตา และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตาได้รับการยิงเลเซอร์ป้องกันภาวะตาบอดจากเบาหวาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหารถยนต์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ 2 คัน จากการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของมกุฏราชกุมารและพระชายาแห่งเดนมาร์ก ร่วมกับมูลนิธิเบาหวานโลก ให้การรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2552-31 ธันวาคม 2554 รวม 2 ปี มี รพ.ทั่วประเทศ 76 แห่งเข้าร่วมโครงการ เป้าหมายคือผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้รับบริการยิงเลเซอร์ 9,999 ดวงตา โดย สปสช.สนับสนุนงบ 7.6 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ปี 2553 ได้รับบริการ 3,957 ดวงตา ปี 2554 ได้รับบริการ 3,686 ดวงตา

4.สนับสนุนโครงการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง เป็นการดำเนินงานของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านการดูแลรักษาผู้ที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง ให้การรักษาทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป้าหมาย 150 ราย ตั้งแต่ มกราคม 2553-ธันวาคม 2555 สปสช.สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และประสานหน่วยบริการในระดับพื้นที่ในการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการ

5.โครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สำนักงานทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนการกุศลกัลยาณิวัฒนา ร่วมกับ สปสช. เพื่อผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้กระจายอยู่ในรพ.ทุรกันดารให้เพียงพอ และสืบทอดปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ต้องการให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทั่วถึงและเป็นธรรม ตั้งเป้าเพิ่มแพทย์ในชนบท 60 คน (3 รุ่นๆ ละ 60 คน) ปี 2554 มีผู้ได้รับทุนแล้ว 6 คน โดยมอบทุนสำหรับแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ ใช้เวลาเรียนและฝึกอบรม 3 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกินรายละ 720,000 บาท ใน 3 ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายฝึกปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“โครงการทั้งหมดนอกจากจะเป็นประโยชน์กับประชาชนแล้ว ยังถือเป็นการทำงานประสานความร่วมมือระหว่าง ข้าราชการ หน่วยงานเอกชน และประชาชนเพื่อร่วมกันถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ยูเอ็นชื่นชมหลักประกันสุขภาพไทย
ผลการศึกษาฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกชี้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุมทุกปัญหาสุขภาพประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่เศรษฐกิจประเทศชะลอตัว และเกิดการระบาดของโรคในระดับนานาชาติ และประชากรสูงอายุของโลกต้องการการดูแลรักษาโรคเรื้อรังมากขึ้น และพบว่าทั่วโลกยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายตามสัตยาบันที่ได้ให้ไว้ และประเทศที่ขาดสวัสดิการด้านสุขภาพที่พอเพียง ทำให้ประชาชน 100 ล้านคนต่อปีกลายเป็นคนยากจน ขณะที่ยุโรป ญี่ปุ่น ชิลี เม็กซิโก รวันดาและไทย เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในระบบสวัสดิการด้านสุขภาพแบบรวมของประชาชนเป็นอย่างดี

สอดคล้องกับ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2554 และได้กล่าวถึงระบบสุขภาพของไทยว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดี นับเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศเพื่อมีหลักประกันสุขภาพและมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการโดยภาครัฐ เน้นการปกป้องคนจนและผู้ยากไร้ (pro poor) โดยเฉพาะการปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรง (catastrophic illness) นอกจากนี้ระบบการบริหารการเงินการคลังที่มีความหลากหลาย และเป็นระบบปลายปิด (close end) อันทำให้ระบบการเงินการคลังมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นทิศทางการบริหารจัดการด้านการเงินที่ถูกต้อง และควรแก่การที่แต่ละประเทศจะเข้ามาศึกษาและนำไปพัฒนาประเทศ - หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

Share SHARE
"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" บล๊อกนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการรักษา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม แนะนำ/ติชม กันได้ที่ payao1971@gmail.com

"I hope you are enjoying good health."