กำจัดเชื้อรา หลังน้ำลด

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา บ้านเรือนที่อยู่อาศัย อาคารต่างๆ ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถเข้าไปพักอาศัยได้ เนื่องจากต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เมื่อน้ำลดแล้วปัญหาที่ตามมาคือ มีเชื้อราขึ้นตามที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ดังนั้น หลังจากน้ำลดแล้ว เราควรเร่งกำจัดเชื้อราที่ขึ้นตามบริเวณบ้าน เพราะการสัมผัสกับเชื้อราเป็นเวลานานโดยเฉพาะผู้เป็นภูมิแพ้ หรือมีโรคประจำตัว จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเกิดโรคซ้ำซ้อนได้ จึงได้รวบรวมเคล็ดลับในการจัดการเชื้อรา ภายหลังน้ำลด มาฝาก ควรมีวิธีจัดการอย่างไร ....

เชื้อรา เชื้อรามีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ อาศัยความชื้นจากสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต ดังนั้น จากสภาวะน้ำท่วมขังภายในอาคารบ้านเรือนที่ปิดมิดชิด เป็นอีกสภาวะหนึ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเชื้อรา เมื่อสปอร์ของเชื้อรานี้ฟุ้งกระจายในอากาศ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนัง หรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ หากร่างกายอ่อนแอ เชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารพิษ (Mycotoxin) ที่เป็นอันตรายและสันนิษฐานว่าเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

ปฏิบัติการกำจัดเชื้อรา เริ่มต้นจาก

1.การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่งกายรัดกุม โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ตยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง สวมแว่นตา เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากาก N 95) ป้องกันการหายใจเอาสปอร์เชื้อรา และไอระเหยสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย

2.การระบายอากาศ ในระหว่างทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญ ไม่ควรเปิดแอร์และพัดลม ในระหว่างการทำความสะอาด เพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้ หากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศไปพร้อมกัน

3.การทำความสะอาด ควรเช็ดไปในทางเดียว ไม่ควรถูไปมา เพราะจะทำให้เชื้อราฟุ้งกระจาย แบ่งออกเป็น

Ä การทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน ขัดให้คราบสกปรกหลุดออกให้หมด

Ä เชื้อราที่ขึ้นกับวัสดุพื้นผิวแข็ง เช่น พื้นห้อง ผนัง เพดาน โต๊ะ เตา อ่างล้างจาน ทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) เจือจางกับน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร) ขัดด้วยแปรงชนิดแข็งแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

Ä วัสดุที่เป็นเนื้ออ่อน เช่น หนังสือ กระดาษมัน พลาสติก กล่อง ให้ใช้สำลีชุบฟอร์มาลินเช็ด แล้วตามด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้แห้ง

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข/แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

Share SHARE
"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" บล๊อกนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการรักษา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม แนะนำ/ติชม กันได้ที่ payao1971@gmail.com

"I hope you are enjoying good health."