ถ้าเอ่ยชื่อ “ว่านมหากาฬ” แล้ว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้จัก แต่พวกเราชาว ดิ อโรคยานั้นรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะคุณหมอแดงปลูกไว้ และนำมาให้พวกเราได้ทานกันเป็นประจำ
นอกจากสามารถรับประทานเป็นผัดสดแกล้มน้ำพริกได้ แถมมีรสชาติอร่อยและกลิ่นที่หอมแบบสมุนไพรเป็นเอกลักษณ์แล้ว ว่านชนิดนี้ยังมีสรรพคุณมากมาย และมีความเป็นมงคลตามความเชื่อของแวดวงคนปลูกว่านอยู่ด้วย วันนี้เลยอยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ “ว่านมหากาฬ” กันค่ะ
ว่านมหากาฬเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย มีหัวอยู่ใต้ดิน เนื้อของหัวเป็นสีขาว ใบมีลักษณะคล้ายใบผักกาด แต่มีความหนาและแข็งมาก ขอบใบหยัก ลายใบด่างๆ พื้นใบสีเขียวอ่อน มีลายสีม่วงซีดๆ ใบอ่อนจะเป็นสีม่วงแก่ ตามแขนงใบเป็นสีขาว
ก้านใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีขาว ดอกมีลักษณะเป็นฝอยก้านดอกยาว มีสีเหลือง คล้ายดอกดาวเรืองแต่มีขนาดเล็กกว่า ขยายพันธ์โดยการแยกหน่อ
สรรพคุณของว่านมหากาฬที่มีมากกว่าแค่อาหาร
- รักษาโรคเริม งูสวัด โดยนำรากและใบสด 5-6 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด มาตำรวมกัน แล้วมาพอกบริเวณที่มีอาการ พอกทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำแบบนี้ประมาณ 3 วันแผลจะแห้งสนิท จะสามารถลดอาการปวด บวมได้ ผลการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริม และงูสวัด ปรากฏว่าสารสกัดจากใบว่านมหากาฬนั้นทำให้การกลับมาเป็นใหม่นั้นลดลงได้อีกด้วย
- ใช้ถอนพิษไข้ โดยนำรากและใบสดมาต้มดื่มน้ำเรื่อยๆ ต่างน้ำชา ไข้จะค่อยๆ ทุเลาลง
- ใช้รักษาฝี โดยนำใบ 2-3 ใบมาตำแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็นฝี พอกทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำแบบนี้ประมาณ 3 วันแผลจะแห้งสนิท
- ใช้ขับพิษงู โดยนำใบ 2-3 ใบมาตำแล้วนำไปพอกที่แผล ผูกด้วยผ้าทิ้งไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมง อาการปวดก็จะหายไป
- ขับพิษแมงป่อง ต่อ แตน ผึ้ง โดยนำใบมาตำและพวกไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงหรือจนกว่าอาการปวดและบวมจะเริ่มทุเลาลง
- ใช้ห้ามเลือด นำใบมาตำแล้วนำมาโปะที่แผลประมาณ 10 นาที เลือดก็จะหยุดไหล ทำแบบนี้ไปทุกวันจนกว่าแผลจะหายไป
- ช่วยขับระดู นำใบสดมา 5-6 ใบมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มดื่ม
ในด้านความเชื่อนั้น หลายๆ คนเชื่อว่าหากนำมาปลูกไว้ที่บ้านจะสามารถช่วยป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ และยังทำให้ผู้ปลูกมีอำนาจ และบารมีจนเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั่วไป ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้
เป็นทั้งไม้มงคล มีสรรพคุณทางยามากมาย แถมกินได้ อร่อยด้วยแบบนี้ เราควรจะหามาปลูกติดบ้านกันไว้เยอะๆ แล้วล่ะค่ะ
ที่มา: http://thearokaya.co.th/web/?p=2867
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น