ตั้งครรภ์พึงระวัง !?! ภาวะเสี่ยงใกล้คลอด

สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ขณะที่โรคร้ายหลากหลายนำมาซึ่งความเจ็บป่วยการสูญเสีย การมีความรู้ความเข้าใจรู้หลักปฏิบัติเตรียมความพร้อมก่อนต้องเผชิญกับความ เจ็บป่วยจึงมีความสำคัญความจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามละเลย

เช่นเดียวกับว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ซึ่งต้องรับภาระเพิ่มทั้งการดูแล ตนเอง ดูแลลูกน้อยในครรภ์ ตลอดระยะเวลาการอุ้มท้องทุกช่วงเวลาจากนี้จวบจนถึงการคลอดพบหน้าสมาชิกใหม่ ของครอบครัวจึงมีความหมาย

การดูแลครรภ์ ดูแลสุขภาพเพื่อหลีกไกลจากภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้แนะนำว่า ก่อนการตั้งครรภ์ควรเตรียมตัววางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ อีกทั้งการตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมทั้งสามีและภรรยามีข้อดีหลายด้านช่วย คัดกรองไม่ให้เกิดผลเสียไปยังลูกน้อย ทั้งเรื่องของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะเลือดจางจากโรคธาลัสซีเมีย ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมที่ดีก่อนการตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญ นอกจากนี้หากเกิดการตั้งครรภ์หากทราบถึงการมาของประจำเดือนครั้งสุดท้ายก็ เป็นสิ่งที่ดีมีความจำเป็น ทั้งนี้เพราะประจำเดือนในครั้งสุดท้ายจะถูกนำมาคาดคะเนวันคลอดคร่าว ๆ ทำให้ทราบถึงอายุครรภ์

“การที่ไม่ทราบประจำเดือนครั้งสุดท้ายจะเป็นปัญหาทำให้ไม่อาจทราบการตั้ง ครรภ์ว่าเกิดขึ้นนานเท่าใดซึ่งสิ่งนี้จะมีผลเสียตามมา ทั้งในเรื่องการคลอดก่อนกำหนดโดยไม่จำเป็นหรือการคลอดเกินกำหนดไป อีกทั้งยังส่งผลต่อการวางแผนการดูแลการตั้งครรภ์ อย่างการคลอดเกินกำหนดจะส่งผลต่อเด็ก เด็กจะขาดออกซิเจนในท้อง คลอดออกมาอาจทำให้ตัวเล็ก อาจมีการเสียชีวิตในครรภ์ได้ ฯลฯ”

การดูแลอย่างแรก หลังจากทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพราะการฝากครรภ์แต่เริ่มแรกไม่เพียงทำให้ทราบอายุครรภ์อย่างแน่นอน แต่ยังทำให้ทราบถึงภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ จากการตั้งครรภ์ได้ร่วมด้วย

เมื่อมีการตั้งครรภ์ถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วและไม่ว่าจะเป็นการตั้ง ครรภ์ปกติหรือไม่ปกติก็ตาม ในครรภ์ที่ปกติถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนถือว่ามีความเสี่ยงสูง ในความเสี่ยงที่อาจพบเจอมีทั้งในเรื่อง การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต่างเป็นความเสี่ยงที่ต้องใกล้ชิดดูแล

การดูแลครรภ์แต่ละช่วงแม้จะมีความแตกต่างกันแต่ก็ต้องใกล้ชิดรู้หลักปฏิบัติ สังเกตความผิดปกติ โดยทั่วไปแบ่งเป็น สามไตรมาส อย่างสามเดือนแรกที่กล่าวมาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ เนื่องด้วยช่วงเวลานี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นหลายด้าน เมื่อมาฝากครรภ์แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างโรคทางกรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ที่ผ่านมามีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร ในกรณีมารดาที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือมีอายุมากกว่า 35 ปีถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง ช่วงการฝากครรภ์อย่างที่กล่าวจะมีการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาหมู่เลือดดูภาวะต่าง ๆ ทั้งโลหิตจาง ตับอักเสบ ฯลฯ เมื่อมีการตรวจดังกล่าวก็จะดูว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือไม่ กรณีที่มี ความเสี่ยงสูงแพทย์จะมีการตรวจเฉพาะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไป

พอเข้าสู่ ไตรมาสสอง ภาวะแทรกซ้อนจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกกับไตรมาสสาม ในไตรมาสนี้ภาวะแทรกซ้อนอย่างที่กล่าวมาอาจมีไม่มาก ถ้าจะมีก็จะเป็นเรื่องของความดันโลหิตสูงอาจจะเริ่มมีบ้างในกรณีที่ครรภ์ เป็นพิษ แต่โดยทั่วไปจะพบน้อยและในไตรมาสนี้ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์จะมีการอัลตราซาวด์ดูความปกติ ความสมบูรณ์ของเด็ก

จากนั้นพอมาถึง ไตรมาสสาม ภาวะแทรกซ้อนอาจมีเพิ่มขึ้น ในภาวะแทรกซ้อนใกล้คลอดที่มักพบจะมีทั้ง ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมีความอันตรายทั้งแม่และลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงตั้งครรภ์หากมีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัวจุกแน่นหน้าอกต้องรีบพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนยังมีในเรื่อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ทารกเติบโตช้า การตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือการตกเลือดก่อนคลอด จากภาวะรกเกาะต่ำ ส่วนสัญญาณการคลอดนอกจากการบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอแล้วการเปิดของปาก มดลูกเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกได้ ในการบีบตัวของมดลูกผู้ที่กำลังตั้งครรภ์สังเกตถึงสิ่งนี้ได้

แต่หากมดลูกบีบตัวนานอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดทำให้แม่ต้องทรมานและถ้ากรณีที่ เด็กเติบโตช้าน้ำหนักตัวน้อย การบีบตัวนานอาจทำให้เกิดผลเสียต่อเด็กในครรภ์เสียชีวิตได้ในกรณีที่ทารกขาด ออกซิเจนหรือมีภาวะทารกเติบโตช้า ฯลฯ ตลอด ช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ การสังเกตดูแลตนเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญและแม้ว่าแพทย์จะดูแลอย่างเต็ม ที่ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็ต้องไม่ละเลยสังเกตดูแลตนเองด้วยเช่นกัน อย่างการขยับการดิ้นของทารกในครรภ์ต้องสม่ำเสมอ สังเกตได้โดยปกติทารกจะดิ้นไม่น้อยกว่า 10 ครั้งในช่วง 12 ชั่วโมงหากน้อยกว่านี้ควรพบแพทย์เพราะสิ่งนี้เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกถึงความ ผิดปกติ

นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ต้องพึงระวังเรื่อง น้ำหนัก ซึ่งหากมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป น้อยไป ก็ไม่เป็นผลดี อย่างน้ำหนักเพิ่มน้อยไปอาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก ส่วนน้ำหนักแม่เพิ่มมากเกินก็อาจทำให้ครรภ์เป็นพิษ เกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรืออาจทำให้เด็กตัวโตเกินทำให้เกิดการ คลอดยากคลอดลำบาก ฯลฯ โดยทั่วไปน้ำหนักไม่ควรเพิ่มเกิน 2-3 กิโลกรัมต่อเดือน

การพักผ่อนที่เพียงพอเป็นอีกสิ่งสำคัญต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับ การรับประทานอาหารมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ จิตใจแจ่มใส ไม่เครียดวิตกกังวล และหากพบสิ่งผิดปกติช่วงใกล้คลอดหรือในขณะตั้งครรภ์ ทั้งภาวะปวดศีรษะบวม ตาพร่ามัว จุกแน่นหน้าอก มีเลือดออกหรือมีความผิดปกติสิ่งใดก็ตามต้องไม่มองข้าม อย่ารอช้าควรรีบพบแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งยังช่วย กำจัดความเครียดความวิตกกังวลใจมีความหมายถึงการสร้างความปลอดภัยให้กับคุณ แม่และลูกน้อย

สุขภาพดีสิ่งที่ทุกคนปรารถนาไม่ว่าจะเป็นด้านใดหากเคร่งครัดปฏิบัติ ศึกษาดูแลถูกวิธีสิ่งนี้ย่อมเกิดได้.

ดูแลนิ้วมือ...ถือของหนักให้ถูกวิธี

สาว ๆ นักช้อปทั้งหลายที่ยังไม่มีหนุ่ม ๆ แนบกายคอยช่วยถือของต้องระมัดระวังอาการ “นิ้วล็อก” ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้งานมืออย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการบีบกำ หรือหิ้วของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นบวม หดรัด กลายเป็นพังผืดที่ขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก เป็นที่มาของอาการนิ้วล็อกในที่สุด

นายแพทย์วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน อธิบายถึงอาการนิ้วล็อกว่าเป็นความผิดปกติของมือคนทำงานยิ่งแข็งแรงมากยิ่ง มีโอกาสมาก สามารถพบได้ในแม่บ้านเกือบทุกบ้าน และผู้หญิงมักจะเป็นมากกว่าผู้ชาย 3-4 เท่า เพราะผู้หญิงในเมืองไทยมีการใช้งานของมือรุนแรงซ้ำซากมากกว่าผู้ชาย ตั้งแต่หิ้วของ จ่ายกับข้าวและชอปปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ยิ่งถูกยิ่งหิ้วมาก การเตรียมอาหาร การสับไก่ สับกระดูก การทำอาหารใช้มือจับกระทะ ตะหลิว การซักผ้า บิดผ้า ทำงานบ้านต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของคุณผู้หญิง

อาการที่พบ เริ่มจากเจ็บฐานนิ้ว โคนนิ้วด้านฝ่ามือ นิ้วฝืด สะดุด กำมือหรือ เหยียดมือไม่สะดวก กระเด้ง หรือล็อก นิ้วงออยู่เหยียดไม่ออก หรือนิ้วเหยียดอยู่แต่งอไม่ลง นิ้วอาจบวม โก่งงอ นิ้วเกยกัน แบไม่ออก เจ็บปวด มือไม่มีกำลังมีอาการนิ้วชาร่วมด้วย หากพบว่าเพิ่งจะเริ่มมีอาการ ให้พักมือจากการใช้งานสักระยะ แช่น้ำอุ่นผสมกับการกินยาแก้อักเสบ การทำกายภาพบำบัด ฝึก กำ-แบ ด้วยมือเปล่า สะบัดมือเบา ๆ ให้เป็นการผ่อนคลาย ที่สำคัญนวดฐานนิ้วเบา ๆ จะทำให้ดีขึ้น ถ้าอาการเลวร้ายลงจนเกิดการล็อกของนิ้วมือ อาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปเพื่อลดการบวม แต่ไม่ควรฉีดเกินสองครั้ง ถ้ายังไม่หายต้องผ่าตัด

หากเรารู้จักระมัดระวังตัวจะป้องกันได้ เช่น การหิ้วถุง ควรหิ้วถุงให้ถูกวิธี หิ้วให้เต็มฝ่ามือแทนการใช้นิ้วเกี่ยว ใช้ผ้ารอง ใช้รถเข็น รถลาก แน่นอนว่าการทำงานบางอย่างอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควรประยุกต์ใช้เครื่องทุ่นแรง ใส่ถุงมือ ประยุกต์ด้ามจับอุปกรณ์ให้ใหญ่และนิ่มจะลดความเสี่ยงได้ ถึงแม้เป็นโรคนิ้วล็อก การรักษาตั้งแต่แรกย่อมช่วยชะลอหรือตัดขบวนการที่จะพัฒนาต่อไปจนเป็นขั้น รุนแรงให้สามารถหายได้

นิ้วล็อกเป็นภัยเงียบที่ป้องกันได้ หากพยายามลดความเสี่ยงของการใช้มือผิด ๆ แค่นี้คุณก็จะมีสุขภาพมือที่ดีคู่กับสุขภาพกายที่แข็งแรงไปอีกนาน.

ข้อมูลจาก เดลินิวส์
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

Share SHARE
"อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" บล๊อกนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการรักษา ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม แนะนำ/ติชม กันได้ที่ payao1971@gmail.com

"I hope you are enjoying good health."